ททท.ร่วมกับคณะกรรมการลงพื้นที่ประเมิน "ชุมชนบ่อหิน บ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง สาขาโฮมสเตย์(Homestay) ใน "โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020)"

  ททท.ร่วมกับคณะกรรมการลงพื้นที่ประเมิน "ชุมชนบ่อหิน บ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง สาขาโฮมสเตย์(Homestay) ใน "โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020)" 

มื่อวันที่ 15 - 16  สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก กรมการท่องเที่ยว / ธนาคารออมสิน / Local Alike และ ทีมแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ร่วมเดินทางลงพื้นที่ ชุมชนบ่อหิน บ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง  ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020) โดย ททท. ร่วมกับ 40 องค์กร จัดประกวดในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินและคัดเลือกสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศ โดยชุมชนของประเทศไทย ขยายผลสร้างการรับรู้สู่ระดับนานาชาติ ส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้นโยบายของรัฐที่มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน 


ชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง  เป็น 1 ในชุมชนที่ถูกเสนอชื่อ และผ่านเข้ารอบสุดท้ายหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทสาขาโฮมสเตย์ (Homestay) กับ "โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020)" ซึ่งมีการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนอย่างมีระบบด้วยร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนอย่างยั่งยืน ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ของที่นี่เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูชุมชนให้อยู่ดีกินดีได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ชุมชนบ่อหินยังคงมีความโดดเด่นเรื่องการเพาะเมล็ดและขยายพันธุ์หญ้าทะเล เพื่อการอนุรักษ์และสงวนไว้ซึ่งพันธุ์ปลาพะยูน อีกทั้งยังร่วมกันใช้เครื่องมือในการประมงอย่างถูกกฎหมาย และทำการเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อนำมาทำอาหารรองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการโฮมสเตย์



คณะเดินทางใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงจากสนามบินตรังเดินทางมาถึง “บ่อหินฟาร์สมเตย์” เวลา 12.30 น. จากนั้นร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก คุณบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ ได้เตรียมอาหารมื้อกลางวัน เช่นต้มยำปลากะพง , ปลาจวดแดดเดียว , ปลาเก๋าสามรส , ฉู่ฉี่ปลากะพง และกุ้งผัดมะเขือเทศกะหล่ำปลี เป็นเมนูรสชาติพื้นถิ่นของชาวบ่อหิน ที่มีความอร่อย ไม่เผ็ดร้อนเหมือนอาหารใต้ทั่วๆ ไป 



หลังจากนั้น คณะเข้าห้องประชุมเพื่อรับฟังความเป็นมาและแนวคิดรวมทั้งแรงบันดาลใจในการบริหารจัดการชุมชนแห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืน โดย คุณบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ บ่อหินโฮมสเตย์ กล่าวว่า “ชุมชมนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชัง โดยมีการพัฒนาพื้นที่หลังจากประสบภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ไม่นานนักจึงกลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 


ต่อมาได้พัฒนาส่วนบ้านพักให้เป็นรูปแบบโฮมสเตย์ริมคลอง โดยลักษณะของบ้านเรือนที่นี่ เป็นบ้านไม้ยกสูง โดยมีตัวบ้านยื่นออกมาริมลคลอง ภายในชุมชนฯ มีพื้นที่ใช้สอย โดยเป็นโฮมสเตย์จำนวนสามหลัง มีระเบียงไม้ มีพื้นที่โอ่โถง มีที่นั่งพักนั่งเล่น และท่าเรือ ถัดออกไปเป็นกระชังเลี้ยงปลา



หลังการบรรยายประธานกลุ่มโฮมสเตย์ ได้พาคณะกรรมการและสื่อมวลชนลงเรือหางยาว 1 ลำ สามารถโดยสารได้ไม่เกิน 8 คนต่อ 1 เที่ยว เรือหางยาวพาคณะลัดเลาะไปตามลำคลองชมบรรยากาศสองฝั่งคลอง ที่มีความเขียวขจีของป่าโกงกาง ป่าโกงกางบางส่วนนั้น เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของนักท่องเที่ยว ที่ช่วยปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมในการมาท่องเที่ยวที่นี่  ส่วนกิจกรรมการปลูกหญ้าทะเลให้ปลาพะยูนจะมีเป็นระยะๆ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้จากคุณบรรจง นฤพรเมธี และนัดหมายได้ล่วงหน้า




การสำรวจเส้นทางในวันแรกนั้น คณะเดินทางด้วยเรือหางยาว และได้มาจุดท่องเที่ยวจุดแรก คือ น้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนให้ได้ ระหว่างทางเดินไปยังบ่อน้ำพุร้อน จะได้สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิดมีทั้ง ปูลม ปลาตีน รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้อื่นๆ คุณบรรจงเล่าว่า “น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิระหว่าง 47 - 50 องศา และโคลนที่บ่อน้ำพุเค็มร้อน มีประโยชน์ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะผิวพรรณของคนเรา สามารถนำมาสปาโคลนได้ ส่วนนักท่องเที่ยวถ้าจะทำสปาแช่เท้าในน้ำพุเค็มร้อน แนะนำให้มาถึงที่นี่ตอนเช้าเวลา 06.00 น. เพราะอุณหภูมิของน้ำพุเค็มร้อนจะลดลงไม่ร้อนมากจนเกินไป เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนมาผสมเข้ากับน้ำพุเค็มร้อนในบ่อน้ำพุเค็มร้อน



กิจกรรมถัดมาเป็น “การปลูกป่าชายเลน” โดยคณะเดินทางมาด้วยเรือหางยาว และเมื่อมาถึงคณะจึงได้ร่วมด้วยช่วยกันปลูกป่าชายเลน การปลูกป่าชายเลนจะช่วยประคับประคองผืนป่าชายเลนให้เกิดความสมบูรณ์ ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งอาหารแหล่งพักพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ที่มีความสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย






หลังจากปลูกป่าชายเลนเสร็จสิ้น คณะเดินทางต่อไปยัง “อ่าวบุญคง” เพื่อสำรวจความงามของหินงอกหินย้อยจากภูเขาหินปูนที่มีความใหญ่อลังการ  “อ่าวบุญคง”  เป็นที่อาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ตั้ง “ธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล” เพื่อช่วยอนุรักษ์หญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนและมีการจัดทริปท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในช่วงที่น้ำลดเราสามารถเดินบนพื้นทรายได้ กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเมื่อมาที่อ่าวบุญคง ก็คือการปลูกหญ้าทะเล พายเรือคายัคลัดเลาะเพิงผาหิน 








ถัดจากอ่าวบุญคง คณะเดินทางต่อไปยัง “หาดหลอหลอ” ที่มีความสวยงาม มีเม็ดทรายขาวละเอียด นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง  ไฮไลท์ก่อนปิดทริปของวันนี้..คุณบรรจงพาคณะสัมผัสแสงสุดท้ายของวัน ที่ “หาดเก็บตะวัน” คุณบรรจงบอกว่าก่อนหน้านี้ ฝนตกแทบจะทุกวัน แต่วันนี้ฟ้าสวย ไม่มีฝน คณะจึงได้สัมผัสบรรยากาศที่สวยงาม ฟ้าสีคราม ทะเลเขียวใสมรตก  หลังจากจึงเดินทางกลับไปพักผ่อนตามอัธยาศัยที่โฮมสเตย์  เพื่อทานอาหารมื้อค่ำ โดยเมนูมื้อค่ำเป็นเมนูซีฟู้ด มี ปูม้านึ่ง , กุ้งแชบ๊วยอบเกลือ , ปลาสีเสียดแดดเดียว , แกงส้มปลากะพง , ปลาเก๋านึ่งบ๊วย และผัดกะหล่ำปลี พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด



กิจกรรมของวันที่ 2 เมื่อทานอาหารเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำชุมชน โดยคุณบรรจงเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน ชาวประมงก่อนจะออกเรือไปหาปลา ตอนเช้าตรู่จะต้องมาตักน้ำจืดที่บ่อหินนี้ไว้ไปบริโภคบนเรือหาปลา จากนั้นสายๆ จะมีชาวบ้านมาใช้น้ำจืดที่บ่อหินนี้ซักผ้า ฯลฯ บ่อหินนี้ เป็นบ่อน้ำจืดผุดมาจากชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจมากทั้งๆ ที่อยู่ใกล้น้ำเค็ม แต่น้ำในบ่อกลับเป็นน้ำจืดสนิทไม่มีน้ำเค็มปนอยู่เลย ปัจจุบันชาวบ้านที่แห่งนี้ ยังคงใช้น้ำจืดจากบ่อหินนี้อยู่เสมอ








จากนั้นคณะก็ได้เดินทางไปยังชุมชนท่องเที่ยว โอทอปวิลเลจ เพื่อทำผ้าบาติค ซึ่งคณะกรรมการก็ได้ลงมือระบายสีผ้าบาติคด้วยตัวเอง นับเป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนานอีกหนึ่งกิจกรรม ซึ่งผ้าบาติคที่ได้ทำการระบายสีเสร็จแล้ว ทางชุมก็จะขอชื่อที่อยู่ของแต่ละท่านที่ทำไว้ เมื่อชุมชนนำไปดำเนินการจนเสร็จบวนการผลิต ชุมชนก็จะจัดส่งให้ถึงที่บ้าน





หลังจากนั้น ทางคณะเดินทางต่อไปยัง “ชุมชนจักสาน” เพื่อสัมผัสความงดงามของงาน หัตถกรรมจักสานอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จากเครื่องจักสานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เตยปาหนัน พืชตระกูลปาล์มกอใหญ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และพบมากในภาคใต้ ไม่ว่าจะริมหาด ชายทะเลหรือป่าโกงกางมาทำการจักสานด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ สวยงาม ต่อมาหน่วยงานราชการเล็งเห็นว่าพืชท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน จึงสนับสนุนเกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากของใช้ในครัวเรือน พัฒนามาเป็นกระเป๋าสตรีใบสวยและของฝากสุดน่ารักตามสมัยนิยม








“ปลาเค็มกางมุ้ง”  อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ อ.สิเกา เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีพื้นที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับชายฝั่งทะเล ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งส่วนใหญ่ มักประกอบอาชีพประมง และค้าขาย เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจึงมีสัตว์น้ำชุกชุม  เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เต่า ปลาหมึก ฯลฯ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ซึ่งในแต่ละครั้งจะจับได้ในปริมาณมาก สามารถนำไปจำหน่ายขายในตลาดและแบ่งมาแปรรูปทำเป็นปลาเค็มไว้รับประทาน โดยเฉพาะคนในชุมชน ต.บ่อหิน อ.สิเกา จะยึดถือสืบทอดทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน ส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบของอุตสาหกรรมครอบครัวขนาดเล็ก แต่หลังจากชุมชนมีการพัฒนามากขึ้น การแปรรูปปลาเค็มจึงมีการพัฒนาขึ้นตามไปด้วย  ปัจจุบันได้มีการทำการตลาดแบบออนไลน์


การแปรรูป “ปลาเค็ม” มีมานานมากแล้ว เนื่องจากชาวบ้านมีทำเลที่ตั้งติดริมชายทะเล ทำให้อาชีพหลักของชาวบ้านของที่นี่ คือ การทำประมง เวลาออกเรือได้ปลามาจำนวนมาก จะมีการแปรรูปเก็บไว้บริโภค แต่วิธีการผลิตปลาเค็ม แบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเท่าที่ควร ชาวบ้านจึงพยายามคิดค้นวิธีการต่างๆ จนมาได้ข้อสรุปที่วิธีการทำ “ปลาเค็มกางมุ้ง” 





สำหรับผู้ที่สนใจจะมาท่องเที่ยวที่บ่อหินฟาร์มสเตย์ สามารถติดต่อได้ที่ คุณบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มโฮมสเตย์  บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ พร้อมอาหารทะเลสดๆ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนประมงพื้นบ้าน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ป่าชายเลน เรียนรู้และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล.. โทร. 081- 8927- 440  

banjong.np@gmail.com 

face book; BoHin Farm Stay 

line id; bj1616 


ทั้งนี้ มีกิจกรรมการแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ทีมนักการตลาดทั้งหมด 17 ทีม ในแต่ละสาขาที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องลงพื้นที่ชุมชนตามโจทย์ที่กำหนดให้ เพื่อไปสร้างสรรค์แพ็คเก็จท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ดีที่สุด โชว์ฝีมือทางการตลาด และวางแผนการขายวอร์เชอร์ท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทีมนักการตลาดทีมใดที่ขายวอร์เชอร์ได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไปโดยปริยาย โดยนักการตลาดทุก ๆ ทีม จะมีระยะเวลาในการขายวอร์เชอร์ 30 วัน สำหรับทีมนักการตลาดที่เข้าแข่งขันลงพื้นที่ในชุมชน บ่อหินฟาร์มสเตย์วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด จังหวัดตรัง ในครั้งนี้คือทีม ทีมคุณเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง และคุณวราพงษ์ ท่าขนุน,  สามารถติดตามได้ที่ : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2600652970183678&id=100007170012835


นอกจากผลจากคะแนนในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน 2 ด้าน ทั้งจากคะแนนพิจารณาของกรรมการ 70% และ คะแนนโหวตจากสื่อมวลชน 30% โดย ททท. จะจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ซึ่งตรงกับวันท่องเที่ยวโลก World Tourism Day สำหรับผู้ชนะจากการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับการประชาสัมพันธ์ ต่อยอดขยายผลทางการตลาดและขายอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Airbnb เป็นต้น




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

29 เมย. 66 สมาชิกสโมสรโรตารีพระปกเกล้าธนบุรีนำคณะซ่อมแซมอาคารเรียนและมอบสิ่งของอุปกรณ์การเรียนให้กับ รร.วัดลำบัวลอย

นักวิจัย มจธ.โชว์เทคโนโลยีวิศวกรรมโบราณสถาน รัฐ-เอกชน รุมจีบทำฐานข้อมูลดิจิทัลสถานที่สำคัญ...