ททท.ร่วมกับคณะกรรมการลงพื้นที่ประเมิน "ชุมชนบ้านเชียง" อ.หนองหาน จ.อุดรธานี สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Best Creative Experience) ใน "โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท(Thailand Rural Tourism Award 2020)"

 ททท.ร่วมกับคณะกรรมการลงพื้นที่ประเมิน "ชุมชนบ้านเชียง" อ.หนองหาน จ.อุดรธานี สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Best Creative Experience) ใน "โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท(Thailand Rural Tourism Award 2020)"

 ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม พศ. 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม อพท.  และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทีมแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนทีมคุณกีรติกานต์ เตชาวัฒนากูล ร่วมเดินทางลงพื้นที่ "ชุมชนบ้านเชียง" อ.หนองหาน จ.อุดรธานี สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Best Creative Experience) หนึ่งใน โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020) โดย ททท. ร่วมกับ 40 องค์กร จัดประกวดขึ้น โดยมีวัถุประสงค์เพื่อประเมินและคัดเลือกสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศ โดยชุมชนของประเทศไทย ขยายผลสร้างการรับรู้สู่ระดับนานาชาติ ส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้นโยบายของรัฐที่มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน




"ชุมชนบ้านเชียง" อ.หนองหาน จ.อุดรธานี มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของชาวไทพวน ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง แห่งราชอาณาจักรลาว โดยเฉพาะเรื่องการค้นพบวัตถุโบราณ หม้อไหบ้านเชียง และการรวมตัวกันเพื่อการท่องเที่ยวของชาวบ้านเชียงมายาวนานทำให้เป็ นชุมชนที่แข้มแข็ง มีการจัดการที่ดี 






สำหรับกิจกรรมการลงพื้นที่ "ชุมชนบ้านเชียง" จ.อุดรธานี ในครั้งนี้ ในวันที่1 สิงหาคม 2563 คณะเดินทางจากสนามบินอุดร ไปยังชุมชนบ้านเชียง อ.หนองหาน ด้วยรถตู้ ใช้เวลาเดินทางราวๆ ชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึง "ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง" ตำบลบ้านเชียง โดยมีผู้นำชุมชน พร้อมด้วยสมาชิก และกลุ่มอาชีพเครือข่าย ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยบริเวณชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง นอกจากมีห้องประชุมและลานวัฒนธรรมแล้ว ยังมีร้านค้าขายสินค้าพื้นเมือง ทั้งผ้าทอ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์งานเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ มากมาย 









คณะเริ่มด้วยการเข้าห้องประชุม และชมวิดิทัศน์ข้อมูลของ "ชุมชนบ้านเชียง" ต่อด้วยผู้นำชุมชน และสมาชิก นำเสนอผลงานให้คณะกรรมการฟัง หลังจากนั้นรับประทานอาหารเที่ยง โดยเมนูแรกคือ เมนู "ซ้วนเส้น" ซึ่งเป็นเมนูออร์เดิร์ฟที่ประกอบไปด้วยสารพัดผักห่อด้วยใบแช่บพลู ราดด้วยน้ำจิ้ม ตามมาด้วยเมนูหลัก คือ "ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวาน" ตัวข้าวผัดหอมกลิ่นข่า เติมพริกให้เผ็ดเล็กน้อยพร้อมด้วยผักต่างๆ เป็นเครื่องเคียง 




จากนั้นนั่งรถรางไป "ตามรอยอารธรรมบ้านเชียง" ระหว่างทางจะพบกับทุ่งนาที่ข้าวกำลังเขียวขจีทำให้บรรยากาศดูสดชื่นมาก และจุดแรกที่ไปชมคือ "ห้วยดินดำ" อยู่ที่บ้านดงเย็น ต.บ้านเชียง เป็นบริเวณที่มีดินดำ เหมาะกับการนำไปปั้นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยบริเวณนี้จะเป็นลำห้วย มีสะพาน และเป็นนาข้าวของชาวบ้าน ดินดำจะอยู่ในรัศมีใกล้ๆ กับห้วยดินดำ ชาวบ้านเชียงที่ต้องการนำดินดำไปปั้น สามารถขุดนำไปใช้ได้เลย จากห้วยดินดำ 







นั่งรถรางต่อไปยัง "ศูนย์เรียนรู้ กลุ่มจักสาน บ้านดงเย็น" ชมการสาธิตการจักสาน และร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการจักสาน ชมการทำและชิม “ขนมข้าวปาด” และ “น้ำข่าเขียว” รสชาติอร่อย รวมถึงชมการสาธิตการย้อมสีผ้าโดยการหมักโคลน 







จากนั้นเดินทางต่อไปยัง "ศูนย์เรียนรู้ ทอผ้าย้อมคราม บ้านเชียง" กลุ่มทอผ้าเทศบาลบ้านเชียง ศูนย์เรียนรู้สิ่งทอ และหัตถกรรมไทย ชมการสาธิตการทอผ้าจากชาวบ้าน และร่วมกิจกรรมทอผ้า  เรียนรู้เรื่องการย้อมผ้าด้วยครามหมักโคลน ย้อมสีธรรมชาติลายภูมิปัญญาของชาวบ้านเชียง จากนั้นเดินไปชม "บ้านไทพวน" เป็นบ้านไทพวนโบราณ เดิมเป็นบ้านของ "นายพจน์ มนตรีพิทักษ์" ชาวบ้านเชียง ที่อนุญาติให้กรมศิลปกรเข้ามาใช้พื้นที่ในด้านโบราณคดี ต่อมาได้มอบทั้งบ้านและที่ดินให้กับกรมศิลปกร เพื่อปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิ พลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เสด็จมาทอดพระเนตรการทำงานของนักโบราณคดี ในวันที่ 20 มีนาคม พศ. 2515 









นั่งรถรางต่อไปยัง "วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี" เป็นศูนย์เรียนรู้การปั้นหม้อ และเขียนสีของบ้านเชียง ที่นี่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้ชม และเลือกซื้อ มีเตาเผา และอุปกรณ์ต่างๆ ครบครัน พร้อมกับชมการสาธิตการปั้นหม้อจากช่างผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปปั้นหม้อ และเขียนลายก่อนประวัติศาสตร์ อีกด้วย 









จากนั้นนั่งรถราง กลับมาที่ "ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง" เข้าร่วม "พิธีสู่ขวัญ" ตามแบบชาวอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การฟ้อนรำจากน้องๆชาวบ้านเชียง รวมถึงเหล่าสมาชิกชุมชน ต่อด้วยการเข้าร่วมทานอาหารค่ำแบบ "โฮมพาแลง" เป็นทานอาหารค่ำ ท่ามกลางสายฝนที่กระหน่ำลงมา สร้างความชุ่มฉ่ำ เย็นสบาย โดยเมนูอาหารค่ำเป็นแบบท้องถิ่น เสิร์ฟมาเป็นขันโตก ทานโตกละ 2 คน อาหารแยกเป็น 2 ชุด ตามจำนวนคน เมนูก็มี ต้มไก่ใบมะขามอ่อน หมูแดดเดียว ส้มตำ ข้าวเหนียว น้ำพริก และ แตงโม 







การมาเที่ยว "ชุมชนบ้านเชียง" อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของชาวไทพวน ที่อพยพมาอยู่ที่บ้านเชียง รวมถึงการค้นพบวัตถุโบราณหม้อไหบ้านเชียงทำให้ที่ ชุมชนบ้านเชียงนำมาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะต่ างๆ รวมถึงสินค้าที่ระลึกมากมาย ตลอดจนมีการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวมายาวนาน ท่านใดสนใจมาเที่ยว สามารถติดต่อผู้นำชุมชนได้ที่ โฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง    https://www.facebook.com/HomestayBanchiang/ โทร. 081- 4851864

ทั้งนี้ ในมีกิจกรรมการแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ทีมนักการตลาดทั้งหมด 17 ทีม ในแต่ละสาขาที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องลงพื้นที่ชุมชนตามโจทย์ที่กำหนดให้ เพื่อไปสร้างสรรค์แพ็คเก็จท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ดีที่สุด โชว์ฝีมือทางการตลาด และวางแผนการขายวอร์เชอร์ท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทีมนักการตลาดทีมใดที่ขายวอร์เชอร์ได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไปโดยปริยาย โดยนักการตลาดทุก ๆ ทีม จะมีระยะเวลาในการขายวอร์เชอร์ 30 วัน สำหรับทีมนักการตลาดที่เข้าแข่งขันลงพื้นที่ในชุมชน "ชุมชนบ้านเชียง" ในครั้งนี้คือ ทีมคุณกีรติกานต์ เตชาวัฒนกูล โดยสามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=735214730649615&id=384042049100220

นอกจากผลจากคะแนนในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน 2 ด้าน ทั้งจากคะแนนพิจารณาของกรรมการ 70% และ คะแนนโหวตจากสื่อมวลชน 30% โดย ททท. จะจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ซึ่งตรงกับวันท่องเที่ยวโลก World Tourism Day สำหรับผู้ชนะจากการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับการประชาสัมพันธ์ ต่อยอดขยายผลทางการตลาดและขายอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Airbnb เป็นต้น



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

29 เมย. 66 สมาชิกสโมสรโรตารีพระปกเกล้าธนบุรีนำคณะซ่อมแซมอาคารเรียนและมอบสิ่งของอุปกรณ์การเรียนให้กับ รร.วัดลำบัวลอย

นักวิจัย มจธ.โชว์เทคโนโลยีวิศวกรรมโบราณสถาน รัฐ-เอกชน รุมจีบทำฐานข้อมูลดิจิทัลสถานที่สำคัญ...