วธ.ร่วมใจพุทธศาสนิกชน เติมบุญตักบาตรพระสงฆ์ด้วยเมนูสุขภาพ บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา 96 รายการ...

 วธ. ร่วมใจพุทธศาสนิกชนเติมบุญตักบาตรพระสงฆ์ด้วยเมนูสุขภาพ บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา 96 รายการ ถวายพระกุศล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ  8 รอบ 26 มิถุนายน...
    เนื่องในโอกาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 96 พรรษา ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อถวายพระกุศลด้วยการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรมการเสริมสร้างสุขภาวะแก่พระสงฆ์ ด้วยการตักบาตรอาหารเมนูสุขภาพ เพื่อลดแนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และนับเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่จะร่วมกันผลักดันการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ด้วยการเริ่มต้นใส่ใจเมนูอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตร...
      นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า พระสงฆ์เป็นศาสนบุคคลที่สำคัญในการสืบสานพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาด้านสุขภาวะ ซึ่งข้อมูลสถิติจากกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสงฆ์ พบว่าพระสงฆ์อาพาธและต้องเผชิญโรคภัยไข้เจ็บ อันเนื่องมาจากขาดความรู้ด้านสุขาภิบาลและโภชนาการอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพทำให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ และพฤติกรรมเสี่ยงจากการรับประทานอาหารที่เป็นต้นเหตุของโรค โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่มีสถิติพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่นั้นมาจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ อีกทั้งพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสทำบุญตักบาตร บางครั้งอาจได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย (Junk food) หรือการฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณมาก ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากการทำบุญใส่บาตรตามประเพณีความเชื่อทางศาสนาของประชาชน ประกอบกับสถานภาพของพระภิกษุไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายหรือขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ...
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้จัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำเมนูอาหารสุขภาพ บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา 96 รายการ เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ประกอบอาหาร พระสงฆ์ และผู้สูงอายุผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดทำสื่อความรู้เกี่ยวกับการตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารสุขภาพ การจัดสาธิตการทำอาหารสำหรับตักบาตร และประชาสัมพันธ์หนังสือในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องอาหารสุขภาพ และสนับสนุนส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่พระสงฆ์และผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาแนวทางการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะกับศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ให้เกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารชีวิตด้วยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม ลด หวาน มัน เค็ม ลดโรค เป็นป้องกันและรักษาโรค โดย ใช้วิธี “4 เลือก 4 เลี่ยง” คือ 1) เลือกเครื่องดื่มไม่ผสมน้ำตาล 2) เลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาว 3) เลือกนมจืดไขมันต่ำ 4) เลือกผักสดและผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ ส่วนอาหารที่ควรเลี่ยง 4 ประเภท คือ 1) เนื้อสัตว์ติดมัน 2) แกงใส่กะทิ 3) ขนมน้ำกะทิ และ 4) อาหารกระป๋อง หากไม่ได้ปรุงอาหารเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการปรุงสุก ใหม่ ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือ... 
   อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์จะมีสุขภาพที่ดีได้ ฆราวาส ผู้ประกอบอาหาร และผู้ที่นำอาหารมาถวายพระสงฆ์ ควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอาหาร เห็นถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารที่ดีและถูกหลักโภชนาการ อันจะส่งผลต่อการมีสุขภาวะด้านโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์และผู้สูงอายุต่อไป...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา

29 เมย. 66 สมาชิกสโมสรโรตารีพระปกเกล้าธนบุรีนำคณะซ่อมแซมอาคารเรียนและมอบสิ่งของอุปกรณ์การเรียนให้กับ รร.วัดลำบัวลอย

นักวิจัย มจธ.โชว์เทคโนโลยีวิศวกรรมโบราณสถาน รัฐ-เอกชน รุมจีบทำฐานข้อมูลดิจิทัลสถานที่สำคัญ...