จุฬาฯ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เปิดหลักสูตรออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเสริมสร้างทักษะใหม่ให้แก่บุคลากรหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม 4.0

   จุฬาฯ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เปิดหลักสูตรออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเสริม         สร้างทักษะ   ใหม่ให้แก่บุคลากรหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมไทยให้ปรับตัวเพื่อรองรับการ เปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม 4.0


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ ผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเปิดตัวโครงการนำร่อง “Upskilling / Reskilling Industrial Workforce for Thailand 4.0 : Data Science Pathway by Western Digital and CHULA MOOC Achieve” มุ่งพัฒนาและเสริมทักษะแก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่สู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (อว.) หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่ทันสมัยมีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมกับการฝึกปฏิบัติและการทดสอบ รวมถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ เมื่อเรียนจบชุดวิชา (Pathway) ผู้เรียนที่สอบผ่านเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากโครงการ CHULA MOOC Achieve เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถตามลำดับผลการเรียน
ทั้งนี้ จุฬาฯ ร่วมกับ อว. บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด (BIH) จัดงานเปิดตัวโครงการนำร่อง ในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 - 15.00 น. ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนี้เน้นพัฒนาทักษะผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Science/Data Analytics) ในหน่วยงานและองค์กรเพื่อสามารถปรับตัว และรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (Disruption) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โจทย์ของประเทศคือจะทำอย่างไรให้คนไทยมีทักษะแห่งศตวรรษใหม่ และก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่นี้ได้ และจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็มศึกษา (STEM) เพื่อมาใช้เป็นหัวใจในการสร้างคน
"เราจะต้องเอาสะเต็มไปฝังอยู่ในประชาชนให้ได้ ผมจึงตั้ง CAREER FOR THE FUTURE ACADEMY จะได้เห็นว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียวๆ แล้ว มันจะเหมือนเป็นการเอาทักษะที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ไปไว้ที่ประชาชนไป RESKILL เขา เพราะว่าจะมีคนตกงานเพราะสกิลเราเปลี่ยน" ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน มร. ฟิลิป เบอร์นาร์ด รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า “บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เราจำเป็นต้องมีศักยภาพการแข่งขันในตลาด เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ระบบวิเคราะห์ เทคโนโลยีคลาวด์อินเตอร์เน็ต และปริมาณข้อมูลดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเวสเทิร์น ดิจิตอล ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้อย่างมาก และใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลเพื่อทำให้โรงงานของเรามีความทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานสู่ยุคดิจิทัลโดยนำระบบอัตโนมัติ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้”
“วิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นวิธีคาดการณ์อนาคตและแก้ไขก่อนเกิดความเสียหายจริง เป็นวิธีสำรวจเพื่อมุ่งวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตและปัจจุบันเพื่อทำนายผลลัพธ์ในอนาคตซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และยังเป็นวิธีช่วยสร้างความเข้าใจใน เชิงลึกและทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์ข้อมูลจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมและเศรษฐกิจโลก จึงสำคัญยิ่งสำหรับเราที่สร้างเสริมทักษะที่จำเป็นด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับบุคลากรเพื่อทำให้บริษัทจัดการกับข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด ผมเชื่อว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการมีอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งยังทำให้แน่ใจว่าเราใช้โซลูชั่นที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา”


ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยภาครัฐบาลมีเป้าหมายที่จะนำพาประเทศเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” และมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้องค์กรสามารถเติบโตในบริบทใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
“ผมอยากเห็นคนของเวสเทิร์น ดิจิตอล เก่งยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ในอดีตเราพัฒนาเพื่อนพนักงานเพื่อมาทำธุรกิจ คราวนี้เราอยากจะทำตามใจเพื่อนพนักงานดูบ้าง” ดร. สัมพันธ์ กล่าว



ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อยอดความรู้ให้คนในสังคม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไม่หยุดยั้ง และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล Thailand 4.0 และ Thailand New S-Curve เราจึงริเริ่มโครงการ CHULA MOOC Achieve ซึ่งได้พัฒนาต่อจากโครงการการเรียนการสอนออนไลน์ CHULA MOOC เดิม เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เสริมสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล โดยเพิ่มหลักสูตรสำหรับต่อยอดอาชีพใน 5 สายงาน ได้แก่ การบริหารจัดการ (Management) วิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT/Data/Technology) ภาษา (Languages) ศิลปะและการพัฒนาตนเอง (Art&Self Development) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน


"โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ต้องพัฒนาขวนขวายเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา การเรียนรู้ผ่าน CHULA MOOC/CHULA MOOC Achieve เป็นช่องทางในการพัฒนาทักษะ ที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา"
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของโครงการ CHULA MOOC Achieve คือ มีเนื้อหาเป็นภาษาไทยซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้เรียน สอนโดยอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยการนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงประเด็น กระชับ ชัดเจน ผ่านคลิปวิดีโอมีความยาวในแต่ละตอนประมาณ 7-10 นาที มีการใช้ภาพและกราฟิก กรณีศึกษาใช้ Facebook Group เป็นสื่อกลางในการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนสามารถถาม-ตอบเกี่ยวกับวิชาเรียนได้ทันที ทั้งยังเป็นห้องสนทนา (community) สำหรับสมาชิกในห้องเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ต่างๆ ในหัวข้อที่เรียน มีระบบ Learning Management System (Mycourseville) รวมถึงกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ มีแบบทดสอบท้ายบทให้ผู้เรียนได้ทดลองทำเพื่อประเมินความเข้าใจในแต่ละบทเรียน โดยใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 3 เดือน ผู้เรียนที่เข้าร่วมและผ่านเกณฑ์ตามรายวิชาที่กำหนดจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก CHULA MOOC Achieve



ส่วน ดร. ผาณิต เสรีบุรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการหลักสูตร Data Science Pathway และกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ กล่าวว่า สำหรับการเปิดตัวโครงการในวันนี้ ทีมงานจากบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล จำกัด คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงทีมงานดูแลผู้เรียนจากบริษัท บางกอก อินโนเวชั่น เฮ้าส์ จำกัด ได้ทำงานใกล้ชิดกันเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมต่อยอดจากการเรียนออนไลน์ Data Science Pathway ไม่ว่าจะเป็น เวิร์คชอปเพื่อเสริมความรู้ด้าน Python และ Rapidminer รวมถึง กิจกรรมพบปะผู้สอนและรับฟังการบรรยายพิเศษที่โรงงาน เวสเทิร์น ดิจิตอล ในจังหวัด ปราจีนบุรี โดยความมุ่งหมายสูงสุดของหลักสูตรคือต้องการให้คนเวสเทิร์น ดิจิตอล เก่งยิ่งขึ้นไปอีก และ ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรด้วยทักษะใหม่ นั่นก็คือ วิทยาศาสตร์ข้อมูล


“ในยุคดิจิทัลเราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (community) ใหม่ๆ ให้กับผู้เรียน เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีความสามารถและโอกาสใหม่ และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0”
  สำหรับท่านที่สนใจหรือต้องการสมัครเรียนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล์ contact@chulamoocachieve.com, FB. fanpage CHULA MOOC Achieve https://www.facebook.com/ChulaMoocAchieve/, LINE Official Account @achieveplus หรือ เว็บไซด์ https://www.chulamoocachieve.com/pathway/data-science



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา