วธ.จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชและพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป....

      วธ. จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชและพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

 วันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา
07.00 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
   นายอิทธิพลกล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 ต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี 2557 โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและความเจริญในทุกๆ ด้าน สืบมาจนถึงปัจจุบันซึ่งครบ 241 ปี รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในความเป็นไทยร่วมกัน ช่วยสนับสนุนสินค้าของชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2566 โดยจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป วันที่ 21 เมษายน 2566 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
     “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม ในปีพุทธศักราช 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี โดยกำหนดเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้แม่น้ำผ่านกลางพระนคร วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และมีพระราชาคณะปกครองตลอดสมัยกรุงธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ และสร้างถาวรวัตถุ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานบริเวณพระอุโบสถ พระวิหารทิศ และพระระเบียง ฯลฯ และพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส
ปีพุทธศักราช 2375 – 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมมากก็รื้อสร้างใหม่ขยายรูปทรงบ้าง สร้างเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง ส่วนกุฏิสร้างใหม่เป็นตึก และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่างๆ 8 หมวด ลงแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามศาลารายเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระรัศมี พระพุทธไสยาสน์ ทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล และแก้สร้อยนามพระอารามเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระองค์ทรงริเริ่มพระราชประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล รัชกาลต่อมาจึงถือเป็นพระราชประเพณีว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคจะเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“แฟคทอรี่ ยาร์ด กรุ๊ป” สยายปีก เปิดสาขาใหม่ที่ลำลูกกา